18 ส.ค. 2551


วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2551
Monday 18 August 2008

วันนี้พวกเราไปที่โรงพยาบาลเอกชนที่เพิ่งไปทำสแกนไว้ทั้งหมด เพื่อจะไปฟังแพทย์อ่านผลให้ พวกเราก็รออยู่พักใหญ่ เพราะพยาบาลแจ้งพวกเราว่า แพทย์ไปประชุมเกี่ยวกับแผนการรักษากับแพทย์ท่านอื่นอยู่ และท่านได้นำเวชระเบียนน้องเข้าไปคุยในที่ประชุมด้วย พวกเรารู้สึกว่าที่โรงพยาบาลแห่งนี้มีการปรึกษากันก่อนการรักษา มิใช่รักษาตามอำเภอใจ เหมือนที่เคยเห็นในหลายโรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลที่น้องรักษาอยู่ที่นั่นก็ขึ้นอยู่กับเพียงแพทย์คนเดียวเท่านั้น

หลังจากที่แพทย์ออกมาจากห้องประชุม ท่านก็เรียกพวกเราเข้าไปพบเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการรักษา ซึ่งพวกเราก็มีใจเอนไปทางนั้นเต็มที่ เพราะความใส่ใจในการรักษาของแพทย์ที่นี่

วันนั้นในครอบครัวก็มีการปรึกษากันว่าตกลงพวกเราจะรักษากันอย่างไร จะเลือกที่ไหน แต่อย่างไรพวกเราก็จะลองเอาผลการ PET Scan ไปให้แพทย์คนเดิมดูก่อนว่าท่านจะว่าอย่างไรบ้าง

พวกเราเริ่มบอกคุณพ่อถึงข้อแตกต่างระหว่างแพทย์ทั้งสองโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ทั้งสองก็เป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนทั้งคู่ และก็ยังเป็นแพทย์ที่ติดอันดับหนึ่งในสิบของประเทศทั้งคู่เช่นกัน แต่ทั้งสองคนแตกต่างกันอย่างมากๆ แพทย์คนเดิมเคยจับที่ต่อมน้ำเหลืองน้องไม่เคยเกินสามครั้งตั้งแต่รักษากันมาเดือนเมษายน และไม่เคยตรวจอะไรเพิ่มเลย ไม่เคยแม้แต่จะบันทึกข้อมูลของน้องอย่างเช่น วาดภาพต่อมน้ำเหลืองของน้อง ส่วนแพทย์คนใหม่มีการจับดูว่าต่อมน้ำเหลืองเป็นอย่างไรตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปพบ นอกจากนั้นยังมีการวาดภาพประกอบลงไปในเวชระเบียน

เรื่องที่สองก็คือแพทย์คนเดิมไม่เคยเปิดประวัติหรือเวชระเบียนดูเลย ไม่เข้าใจว่าท่านมีคนไข้มากเกินไปหรือเปล่า ถึงแม้จะเป็นโรงพยาบาลเอกชน แพทย์ก็มีคนไข้แต่ละครั้งไม่ต่ำกว่ายี่สิบคนตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง ซึ่งทุกๆ คนมาถึงก็ต้องโดนเจาะเลือดตรวจก่อน ทุกคนต้องรอผลเลือด นั่นก็หมายความว่ากว่าจะได้พบแพทย์กันจริงๆ ก็ประมาณสิบโมง ดังนั้นการตรวจของแพทย์คนนี้ก็จะเป็นตั้งแต่สิบโมงเช้าถึงเที่ยง แพทย์จะได้พบคนไข้ประมาณเกือบยี่สิบคนภายในสองชั่วโมง ถ้าตามสถิติก็เท่ากับว่า แพทย์แทบไม่มีเวลาจะได้ศึกษาประวัติคนไข้อย่างใส่ใจเลย อย่างน้อยแค่ใช้เวลาอ่านก่อนคนไข้เข้าไปที่ห้องก็ไม่มี จึงต้องคอยถามจากญาติคนไข้เกี่ยวกับเรื่องรายละเอียดทุกครั้ง เพราะแพทย์ไม่ได้ใส่ใจจะอ่านเวชระเบียน ทั้งๆ ที่ทุกครั้งแพทย์ก็จะได้เวชระเบียนก่อนเข้าห้องไปแท้ๆ

เรื่องที่สามก็คือ ที่เราไปรักษาตัวอยู่เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ทันสมัย ซึ่งโรงพยาบาลนี้ไม่ได้ใช้ฟิล์มเอกซเรย์กันแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีไฟไว้ให้ส่องฟิลม์เหมือนที่เคยเป็น และที่โรงพยาบาลนี้ แพทย์จะดูฟิล์มของคนไข้โดยเปิดจากคอมพิวเตอร์ที่ห้องของแพทย์เลย และที่น่าแปลกก็คือ ห้องตรวจของแพทย์ท่านนี้ไม่มีแม้แต่กระทั่งคอมพิวเตอร์สักเครื่องวางอยู่ และเราก็ไม่เคยเห็นแพทย์ท่านนี้ส่องฟิล์มดูเลย ไม่เคยแม้แต่กระทั่งครั้งแรกก่อนการรักษาที่นำฟิล์มเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สแกนไปให้ท่านดูว่าน้องเป็นมะเร็ง สรุปแล้วก็ไม่เคยเห็นท่านส่องฟิล์มเลยตั้งแต่มารักษากับแพทย์ท่านนี้ และเท่าที่สังเกตกัน พวกเราเคยเห็นแพทย์ท่านนี้ดูฟิล์มของน้องบนคอมพิวเตอร์ครั้งแรกก็คือวันที่ 5 มิถุนายน เพราะแพทย์ให้พยาบาลเปิดให้เราดูที่ห้องแพทย์อีกห้องหนึ่ง เราเลยจำได้ขึ้นใจว่า มีเพียงแค่วันนั้นที่เห็นท่านเปิดฟิล์มดู ตลอดเวลาที่ผ่านมาท่านจะอ่านแค่ผลที่เขียนออกมาเป็นตัวอักษรแล้ว โดยแพทย์ที่ห้องเอกซเรย์ แต่ในขณะเดียวกันในช่วงที่มีการผ่าตัดเยื่อหุ้มหัวใจ พวกเราได้มีโอกาสพบแพทย์ทางด้านหัวใจ แพทย์ผ่าตัด และแพทย์ทางปอด แพทย์ทุกคนที่กล่าวมามีการเปิดคอมพิวเตอร์ที่ห้องของพวกท่านเอง และสอนพวกเราดูฟิล์มของน้อง ถีงแม้บางท่านเปิดไม่เป็น แพทย์ท่านนั้นก็จะให้พยาบาลเปิดให้ และแพทย์เหล่านั้นก็จะเปิดเอกซเรย์ปอดดูย้อนหลังกันทุกคน ยกเว้นแต่แพทย์คีโมของเราที่ไม่เคยเปิดดูเลย (จนกระทั่งพวกเราสงสัยนะว่า ท่านลืมวิธีการดูฟิลม์เอกซเรย์ไปหรือเปล่า?)

ทุกครั้งที่เราสอบถามแพทย์ว่า ควรจะทำการตรวจเพิ่มเติมหรือไม่ ท่านมักจะพูดแค่คำว่า “ผมว่ามันไม่จำเป็น” และ “ผมว่ามันไม่แตกต่าง” แค่นั้นคือคำตอบของแพทย์ที่มีให้กับคนไข้และญาติคนไข้อยู่เสมอ และก่อนการรักษาน้อง พวกเราไม่เกี่ยงในเรื่องค่าใช้จ่าย แต่อยากจะให้มีการตรวจให้มั่นใจก่อนการรักษาว่ามีมะเร็งที่ไหนบ้าง อย่างเช่น PET Scan แพทย์ก็บอกว่า “ผมว่ามันไม่จำเป็น” และเมื่อน้องต้องผ่าเยื่อหุ้มหัวใจ แพทย์ก็กลับมาบอกเราว่ามะเร็งไปตกอยู่ที่หัวใจก่อนการรักษาแล้ว พวกเราเข้าใจดีว่าแพทย์มีประสบการณ์มาก แต่ทำไมไม่หาข้อมูลของคนไข้ให้แน่ชัดก่อนการรักษา ภายหลังก็เพียงแต่บอกว่ามันมีมาอยู่แล้ว การที่บอกเช่นนี้แล้วจะทำให้พวกเรารู้สึกดีได้ขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อเราขอให้ตรวจดูก่อนแล้ว

เรื่องที่ห้านั้นก็คือ แพทย์คีโมไม่มีแม้กระทั่งข้อมูลของยาคีโมที่ให้น้องทานว่าควรจะทานอย่างไร หรือห้ามทานกับผลไม้อะไรบ้าง เราเคยลองถามแพทย์ดูอยู่หลายครั้ง คำตอบของแพทย์ก็เหมือนเดิม คือ ทานตอนไหนก็ได้ ไม่มีข้อห้ามกับอาหารประเภทไหนทั้งสิ้น เราเข้าใจดีที่บอกว่า บางครั้งแพทย์ก็ไม่รู้เรื่องยาทุกชนิด แต่ยานี้แพทย์เคยสั่งให้คนไข้ตั้งหลายคนแล้ว จากคำบอกเล่าของแพทย์เอง และแพทย์ก็เป็นแพทย์เฉพาะทางด้านนี้ แต่แพทย์ไม่เคยรู้ข้อมูลของยาที่สั่งให้คนไข้มาหลายคนแล้ว ซึ่งข้อมูลของยาคีโมตัวนี้สามารถหาได้ง่ายเพียงแค่เข้าเวบไซด์ของบริษัทยา ก็จะได้ข้อมูลที่ครบถ้วน หลังจากที่เราถามแพทย์อยู่หลายครั้งเกี่ยวกับยาตัวนี้ แพทย์ก็ไม่เคยตอบได้เลยว่าทานเมื่อไหร่ หรือห้ามทานกับอะไร ทุกครั้งที่มีคำถามเกี่ยวกับยาตัวนี้ทำให้เราไม่มั่นใจในข้อมูลของแพทย์ จนกลายเป็นว่าเราจะต้องเขียนจดหมายไปที่บริษัทยาคีโมตัวนี้ที่เมืองนอกเพื่อถามแทน และทางบริษัทก็อำนวยความสะดวกโดยการให้เบอร์โทรศัพท์ ถ้ามีคำถามเกี่ยวกับยา

เนื่องจากแถวบ้านมีคลินิกที่มีแพทย์โรงพยาบาลรัฐชื่อดังแห่งหนึ่งประจำอยู่ ซึ่งภรรยาของแพทย์ท่านนี้ก็เป็นแพทย์เกี่ยวกับแผนกฉายแสงในโรงพยาบาลเดียวกับสามีของเขา พวกเราจึงนำเอกสารทั้งหมดไปปรึกษาแพทย์หญิงท่านนี้ดู และเราก็มีแอบถามว่าแพทย์เคมีทั้งสองนั้นคนไหนเก่งกว่า ซึ่งแพทย์ท่านนี้ก็บอกพวกเราว่า แพทย์คนใหม่ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งใหม่นั้นเคยเป็นแพทย์เก่งมากที่โรงพยาบาลที่เธอประจำอยู่ แต่ว่าแพทย์ท่านนี้ไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาลรัฐนี้แล้ว ส่วนแพทย์คนปัจจุบันนั้นยังอยู่ที่โรงพยาบาลรัฐอยู่ แต่ยาที่จะให้ทั้งสองคนคงให้ตัวเดียวกัน จะแตกต่างก็คือวิธีการให้ยา แพทย์คนใหม่จะให้ยาแบบนิ่มนวลกว่ามาก และแพทย์หญิงก็ยังแนะนำเพิ่มอีกอย่างก็คือ เป็นทางเลือกอีกทางให้กับน้องให้ลองไปดู จะเรียกง่ายๆ นั่นก็คือวิตามินเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น โดยที่แพทย์ท่านนี้ให้เอกสารประกอบมาด้วยอีกชุดหนึ่งให้ลองกลับไปอ่านก่อน ซึ่งพวกเราก็เลยเริ่มเอากลับมาศึกษากัน

หลังจากที่พวกเราปรึกษากันเสร็จ ก็เลยตัดสินใจว่าพรุ่งนี้จะกลับไปพบแพทย์คนเดิมอีกครั้ง

แสดงความคิดเห็น

Filtered HTML

  • To post pieces of code, surround them with <code>...</code> tags. For PHP code, you can use <?php ... ?>, which will also colour it based on syntax.
  • Web page addresses and e-mail addresses turn into links automatically.
  • You may quote other posts using [quote] tags.
  • Allowed HTML tags: <a> <em> <strong> <cite> <blockquote> <code> <ul> <ol> <li> <dl> <dt> <dd>
  • Lines and paragraphs break automatically.

Comment Input

  • Web page addresses and e-mail addresses turn into links automatically.
  • Allowed HTML tags: <a> <em> <strong> <cite> <code> <ul> <ol> <li> <dl> <dt> <dd> <p> <img> <center> <font> <u> <br/>
  • Lines and paragraphs break automatically.

Plain text

  • No HTML tags allowed.
  • Web page addresses and e-mail addresses turn into links automatically.
  • Lines and paragraphs break automatically.